วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้.... ทำจากอะไร ???
Posted By: Administrator

วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้ ( ไม้ฝาตรา......ต่างๆ...... ) ทำจากอะไร ???
ส่วนผสมที่ใช้ผลิต ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีส่วนผสมของไม้จริงหรือพืชอยู่ในเนื้ออยู่ แต่จะอยู่ในรูปแบบของเส้นใย ณ ตรงนี้เรียกว่าเซลลูโลส หรือเซลลูโลสไฟเบอร์ซึ่งแตกกต่างกันตามแต่เทคนิคการตลาดของแต่ละบริษัทจะเรียกขายกัน โดยการคาดเดาตลาดของกลุ่มมหพันธ์ น่าจะมาจากกระเบื้องแผ่นเรียบนั่นเอง โดยผลิตภัณฑ์วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้นี้ เรียกรวมว่าเป็นกลุ่ม “ ไฟเบอร์ซีเมนต์ “ ซึ่งมีส่วนผสมหลักๆ ก็ คือ ซีเมนต์ , ใยหิน, เส้นใยไฟเบอร์ ( หรือเซลลูโลสไฟเบอร์ ซึ่งเป็นเส้นใยสกัดมาจากต้นไม้จริง หรือพืชชนิดอื่นๆ ), หรือเยื่อกระดาษ โดยเส้นใยดังกล่าวจะทำหน้าที่ยึดหรือช่วยปรสานให้เนื้อซีเมนต์เกาะตัวกันนั่นเอง โดยส่วนผสมเหล่านี้ในกลุ่มของไม้ฝา มีส่วนผสมไม่หนีกันมากนักในแต่ละบริษัท แต่เนื้อหลักๆ ก็คือ ปูนซีเมนต์นั่นเอง มาถึงวันนี้เนื่องจากใยหินเป็นอันตรายกับสุขภาพผู้บริโภค หลายๆ บริษัทจึงคิดค้นหาทางไม่ใช้ใยหินเป็นส่วนผสมอีกต่อไป ( จริงๆ แล้วคำว่าไม่มีเลย หรือปลอดจากใยหิน 100 เปอร์เซ็นต์ คงใช้ได้ไม่เต็มปากนัก เพราะว่าหลักโดยทั่วไปในการผ่านการตรวจสอบ หรือมาตรฐานที่สถาบันใดสถาบันหนึ่งกำหนดไว้ จะมีค่าส่วนผสมของวัตถุนั้นๆ ไว้เป็นตัวเลข หากไม่เกินก็สามารถใช้คำว่า “ ปลอดสารนั้นๆ “ ได้ เช่น ค่าส่วนผสมของวัตถุใยหิน อนุญาตให้มีไม่เกิน 10 หน่วย ใน 1000 หน่วย )
การหดตัวของผลิตภัณฑ์วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้นั้น ทุกยี่ห้อมีการหดตัวหมด อยู่ที่มากหรือน้อยกว่ากันแค่ไหนเท่านั้นเอง การหดตัวของกลุ่มไม้ฝา จะปรากฏชัดตรงบริเวณช่วงรอยต่อระหว่างแผ่น ในทางยาว โดยเราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว ( มองเห็นเป็นรูทะลุ ไม่ชิดสนิทเหมือนตอนติดตั้งใหม่ๆ ) กลุ่มไม้ฝาทุกยี่ห้อไม่มียี่ห้อไหนไม่หดตัว การหดตัวเกิดจากอะไรได้บ้าง ก็ต้องกลับไปดูว่าส่วนผสมหลัก คือปูนซีเมนต์นั่นเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของปูนซีเมนต์อยู่แล้ว ที่ว่าจะต้องมีการขยายตัว – หดตัว อย่างถนนคอนกรีตทำไมต้องมีการเว้นร่องรอยต่อ แต่กรณีของวัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้ ค่อนข้างจะประสบปัญหาที่ “ การหดตัว “ เพียงอย่างเดียว นั่นประการแรก
เหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหดตัวคือ การ “ อบ “ หรือให้ระยะเวลาการเซทตัว การไล่ความชื้นออกจากเนื้อซีเมนต์ให้มากที่สุด ซึ่ง “ เฌอร่า “ ยังเป็นยี่ห้อที่ทำได้ดีที่สุดในท้องตลาดตอนนี้ มีการหดตัวน้อยที่สุด ส่วนที่หดตัวมากที่สุด คือ ตราเพชร กับ โอฬาร ( แต่ไม่ถึงกับเสียหายมากนัก หากว่าผ่านการระมัดระวัง รู้เทคนิคในการแก้จุดนี้ให้บรรเทาลง ) เทคโนโลยีที่เฌอร่านำมาใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการหดตัว ก็คือออโต้เคลฟ หากจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็ คือ การให้ระยะเวลาในการอบไล่ความชื้นออกจากผลิตภัณฑ์มากกว่าเจ้าอื่นๆ นั่นเอง ซึ่งอาจมีคำถามว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าการหดตัวเกิดจากสาเหตุนี้ ทำไมยี่ห้ออื่นๆ ถึงไม่ใช้เวลาในการอบเพิ่ม อันนี้ก็โยงไปถึงฝ่ายการตลาดของแต่ละยี่ห้อ ว่าเมื่อคิดสาระตะออกมาแล้ว มูลค่าการขายต่อชิ้นต่อหน่วย จะสอดคล้องกับการลงทุนหรือเปล่า ( บางยี่ห้อบอกว่า การยืดหดไม่ต่างกันมากกับการอบทั่วไป )
อีกหนึ่งเหตุที่มีส่วนอยู่บ้าง ที่ทำให้วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้ เกิดการหดตัว ก็คือส่วนผสมของเยื่อกระดาษที่ใส่ลงไป เขาใส่ลงไปทำไมหรือ อันนี้จะพาเลี้ยวออกนอกเรื่องย้อนไปที่กระเบื้องกระดาษก่อน กระเบื้องหลังคาที่เราๆ เรียกกัน กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องพรีม่า กระเบื้องไตรลอน นั้นคือกลุ่มกระเบื้องกระดาษ ซึ่งมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์กับเยื่อกระดาษในอัตราส่วนผสมที่สูง ทั้งนี้เพื่อให้ตัวกระเบื้องเกิดความเหนียว เกิดความยืดหยุ่นได้ ถ้าไม่มีเยื่อกระดาษลงไป ก็ไม่ต่างอะไรจากการเทซีเมนต์บางๆ แล้วมาปั๊มเป็นลอน ออกมา ซึ่งซีเมนต์มีแต่ความแข็ง ความหนาที่บางขนาดนั้น รับรองหักตั้งแต่ยกออกจากแม่พิมพ์เลยเชียว อีกทั้งเยื่อกระดาษยังให้ความเบาเมื่อผสมเข้าไป ทำให้น้ำหนักมวลรวมเบาขึ้น การแบกน้ำหนักของโครงหลังคาน้อย และมีต้นทุนต่ำที่สุดที่ให้คุณสมบัติดีที่สุด เมื่อเอามาเป็นส่วนผสม
วัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้ ก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่จำเป็นต้องให้มีการยืดหยุ่น มีความเหนียวในเนื้อ เพื่อการตัดแต่งการตอกยึดทำได้ง่ายขึ้น อย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้นนั่นเองว่า ถ้าไม่มีความยืดหยุ่นเลย จะทำให้การตัดการตอกยึดยากมาก หากใครเคยลองใช้มาหลายๆ ยี่ห้อ จะทราบได้ทันทีว่าเหตุที่ตัดยากตอกยาก เกิดจากมีส่วนผสมตรงนี้น้อยเกินไปหรือแทบไม่มีเลย เยื่อกระดาษจึงเข้ามามีบทบาทในวัสดุสังเคราะห์เลียนแบบไม้ฉะนี้ ( จริงๆ กระดาษนี่เป็นพระเอกหลายเรื่องนะครับ คงจำกันได้ที่มีรถเก๋งคันนึงคว่ำ แล้วหลังคาเปิด ประกอบกับความโชคดีน้อยไปหน่อยของรถยี่ห้อนั้น สื่อหนังสือพิมพ์ดันถ่ายให้เห็นจะจะ ว่าฉนวนบนหลังคารถเก๋งยี่ห้อนั้นใช้บุข้างใน เป็นกระดาษกล่องธรรมดาเท่านั้นเอง ) โลกของธุรกิจน่ะครับ วัสดุส่วนประกอบทุกอย่าง ที่ใส่ลงไปในตัวสินค้าก็คือ ต้นทุนของการผลิต อันส่งผลมาถึงราคาจำหน่าย ที่เราๆท่านๆ ต้องควักต้องจ่ายกัน