Jul 25 ย้อนกลับ

คุณสมบัติและประโยชน์ของไม้แต่ละชนิด

Posted By: Administrator

ในที่นี้จะกล่าวถึงคุณสมบัติและประโยชน์ของไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้อแข็งปานกลาง และไม้เนื้ออ่อน ที่ควรทราบตามลำดับ ดังนี้

ไม้เนื้อแข็ง

มีหลายชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ซึ่งมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่ควรทราบดังต่อไปนี้

ไม้เต็ง  เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ขึ้นเป็นหมู่ตามป่าแดดทั่วไปยกเว้นภาคใต้ ลักษณะเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน จนถึงน้ำตาลแก่แกมแดง เสี้ยนสับสน เนื้อหยาบ แต่สม่ำเสมอแข็งแรงและทนทานมาก เมื่อผื่งให้แห้งแล้วเลื่อยไสตกแต่งได้ยาก น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 1,040 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ทำหมอนรางรถไฟ เครื่องมืออกสิกรรม  โครงสร้างอาคาร เช่น ตง คาน วงกบ ประตูหน้าต่าง โครงหลังคา เสา เป็นต้น

 

ไม้แดง   เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่  ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น ลักษณะของเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อๆ หรือ สีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนแข็งแรงและทนทาน  เลื่อยไสตกแต่งได้เรียบร้อย  ขัดชักเงาได้ดี น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 960 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ไม้นี้นิยมในการก่อสร้างในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น พื้น วงกบประตูหน้าต่าง ทำเกวียน ทำเรือ หมอนรางรถไฟ เครื่องเรือน  เครื่องมือกสิกรรม ด้ามเครื่องมือ ไม้แดงนี้ปลวกหรือเพรียงจะไม่ค่อยรบกวน และเป็น ไม้ที่ต้านทานไฟในตัวด้วย ไม้แดง เป็นไม้ที่มีความแข็งมาก ทำให้เวลาเกิดความชื้นหรือร้อน  จะขยายตัวดันกำแพงแตกได้ กรณีเป็นพื้นหรือหากไปตีชิด ทำฝ้าเพดานชายคาด้านนอกบ้าน ก็จะดันจนเครื่องมีปัญหาได้

 

ไม้ตะแบก  เป็นต้นไม้สูงใหญ่ตอนโคนมีลักษณะเป็นพู ขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้นและแล้งทั่วไป ลักษณะเนื้อไม้สีเทาจนถึงสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนตรงหรือเกือบตรง เนื้อละเอียดปานกลาง เป็นมัน แข็ง เหนียว แข็งแรงทนทานดี ถ้าใช้ในร่มไม่ตากแดดตากฝน ใช้ทำเสาบ้าน ทำเรือ แพ เกรียน เครื่องกสิกรรม ไม้ตะแบกชนิดลายใช้ทำเครื่องเรือนได้สวยงามมาก ใช้ทำด้ามมีด กรอบรูป ด้ามปืน เป็นต้น

 

ไม้เนื้อแข็งปานกลาง

มีหลายชนิดเช่นไม้สัก ไม้กระบากหรือไม้กะบาก ไม้นนทรี และอื่นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่ ที่ควรทราบดังต่อไปนี้

ไม้สัก  เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่  ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและบางส่วนของภาคกลางและตะวันตก ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองนานเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาลแก่ มีกลิ่นเหมือนหนังฟอกเก่าๆ และมีน้ำมันในตัว มักมีเส้นแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบและไม่สม่ำเสมอ แข็งพอประมาณ ทนทานที่สุดปลวกมอดไม่ทำอันตรายนำไปเลื่อยไสตกแต่งง่าย แกะสลักได้ดี ชักเงาได้ง่ายและดีมาก เป็นไม้ที่ผึ่งให้แห้งได้ง่ายและอยู่ตัวดี น้ำหนัก โดยประมาณ 640 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม้สักเป็นไม้ที่นิยมมากในการทำเครื่องเรือน ทำบานประตูหน้าต่าง ทำเรือ แกะสลักต่างๆ ไม้สักเป็นไม้ที่เป็นสินค้าขาออกและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก ไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ขึ้น อยู่ที่บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด  จังหวัด อุตรดิตถ์ มีความสูง 51 เมตร วัดรอบต้นได้ 10.58 เมตร ใช้คนกางแขนโอบรอบต้นได้ไม่น้อยกว่า 8 คน กรมป่าไม้ได้ประมาณอายุต้นสักนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1,500 ปี

ไม้กระบากหรือไม้กะบาก

เป็นต้นไม้สูงใหญ่ ขึ้นประปรายในป่าดิบชื้นและป่าเบญจพรรณชื้นทั่วประเทศ ทางพฤกษศาสตร์จะมีอยู่ หลายชนิด แต่ในส่วนเนื้อไม้และการใช้มีลักษณะคล้ายคลึงมาก ใช้ร่วมกันได้ดี ลักษณะเนื้อไม้โดยรวมมีสีตั้งแต่นวลเหลืองถึงน้ำตาลอ่อนแกมแดงเรื่อๆ เสี้ยนตรงเนื้อหยาบสม่ำเสมอ แข็งเหนียว เลื่อยไสตกแต่งได้ไม่ยาก แต่มีข้อเสียคือเนื้อเป็นทรายทำไห้กัดคมเครื่องมือ ฝึ่ง แห้งง่ายและไม่ค่อยเสื่อมเสีย น้ำหนักโดยเฉลี่ย  ประมาณ 600 กิโลเมตรต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ทำแบบหล่อคอนกรีตได้ดีเพราะถูกน้ำแล้วไม่บิดงอหรือโค้ง ทำเครื่องเรือนราคาถูก ทำกล่องใส่ของเก้าอี้ เป็นต้น

ไม้เนื้ออ่อน

มีหลายชนิด เช่น ไม้ยาง ไม้ก้านเหลือง ไม้มะยมป่า ไม้ต้นมะพร้าว ซึ่งคุณสมบัติและประโยชน์ที่ควรทราบต่อไปนี้

ไม้ยาง   เป็นต้นไม้สูงใหญ่สูงชะลูด ไม่มีกิ่งที่ลำต้น มักขึ้นเป็นหมู่ในป่าดิบชื้น และที่ต่ำชุ่มชื้น ตามบริเวณใกล้เคียงแม่น้ำลำธาร ในป่าดิบและป่าอื่นๆ ทั่วไป ต้นบางชนิดสามารถ เผาเอาน้ำมันยางได้ ( แต่เป็นคนละชนิดกับต้นยางพารา )ลักษณะเนื้อไม้สีแดงเรื่อสีน้ำตาลหม่น เสี้ยนมักตรง เนื้อหยาบ แข็งปานกลางใช้ในร่ม ทนทานดี เลื่อยไสตกแต่งได้ดี น้ำหนักโดนเฉลี่ยประมาณ 650-720 กิโลเมตรต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น ใช้เป็นไม้ฝา ไม้คร่าว ฝ้าเพดาน คร่าวฝา เป็นต้น

ไม้สยาขาว   เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นตามไหล่เขาและบนเขาในป่าดิบทางภาคใต้บางจังหวัด เช่น ยะลา นราธิวาส ลักษณะเนื้อไม้สีชมพูอ่อนแกมขาวถึงตาลอ่อนแกมแดง มีริ้วสีแก่กว่าสีพื้น เป็นมันเลื่อม เสี้ยนสับสน เนื้อหยาบอ่อนค่อนข้างเหนียว ทนทานในร่ม เลื่อยไสผ่าได้ง่าย น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 480 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ทำเครื่องเรือนและส่วนของอาคารที่อยู่ในร่ม เปลือกใช้ทำไม้อัดได้

ย้อนกลับ