Jul 25 ย้อนกลับ

การป้องกันและการรักษาเนื้อไม้

Posted By: Administrator

การป้องกันและการรักษาเนื้อไม้

การผุของไม้เกิดจากการกระทำของฟังไจ( fungi ) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มุ่งทำลายใยไม้  โดยทำการปัจจัยเสริม 4 ประการ คือ

1 ) มีอาหารที่ฟังไจชอบ

2 ) มีอุณหภูมิที่พอเหมาะกับฟังไจ

3) มีปริมาณอากาศที่เคลื่อนไหวน้อย

4) มีสภาพความชื้นที่พอเหมาะ

                        ทั้ง 4 ประการนี้ถ้าขาดปัจจัยใดไป  การทำลายของฟังไจก็จะไม่เกิดขึ้น  ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการที่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดี พบท่อนซุงในสมัยโบราณที่ใช้เป็นฐานกำแพงเมืองจมอยู่ใต้ดินนับร้อยปี  ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีการผุเปื่อย เป็นเพราะซุงจมอยู่ใต้ดินและมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดปราศจากอากาศ

                        การป้องกันรักษาเนื้อไม้ที่ดีที่สุดคือ การทำให้อาหารของฟังไจเป็นพิษ   โดยการอาบหรืออัดหรือทาน้ำยาที่เป็นพิษเข้าไปในเนื้อไม้ สามารถแบ่งได้ 2 วิธีใหญ่ๆ    คือ

วิธีที่หนึ่ง การอาบน้ำยา    

                        เป็นวิธีการอาบน้ำยาให้กับไม้ทั้งที่เป็นซุงหรือผ่านการแปรรูปมา แล้วก็ได้  โดยนำไม้ที่ต้องการอาบน้ำยาลงไปแช่ในถังอักน้ำยา   ซึ่งจะทำการอัดน้ำยาด้วยแรงอัดภายในถังทำให้ยาสามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้ใด้อย่างทั่วถึง  การอัดน้ำยายังสามารถแบ่งออกได้ 2 วิธี      คือ 

                        การอัดน้ำยาแบบเต็มเซลล์ ( Full  cell  process )    การอัดน้ำยาด้วยวิธีนี้เพื่อต้องการให้น้ำยาสามารถซึมเข้าไปในเซลล์เนื้อไม้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  กรรมวิธีเริ่มจากการนำไม้เข้าไปในถังแล้วทำการไล่อากาศและน้ำภายในเซลล์ไม้ออกให้หมดด้วยระบบสุญญากาศ จากนั้นจึงปล่อยน้ำยาเข้าถังด้วยแรงดันถึง 7- 13 กก./ตร.ซม. ที่อุณหภูมิ ประมาณ 80 – 100 องศา เซลล์เซีย เพื่อให้น้ำยาเข้าไปในเนื้อไม้ได้ทั่วทุกเซลล์นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง  จากนั้นก็ลดแรงดันและปล่อยน้ำยาออกจากถัง ขณะเดียวกันก็ทำสุญญากาศอีกครั้งเพื่อไม้แห้ง แต่ในภายหลังอาจมีน้ำยาไหลเยิ้มอกมาได้

                        การอัดน้ำยาแบบไม่เต็มเซลล์ ( Empty  cell  process )    เป็นการอัดน้ำยาเพียงเพื่อให้น้ำยาซึมเข้าไปในเซลล์และเกาะติดอยู่ตามผิวของผนังเซลล์เท่านั้น   โดยภายในช่องเซลล์ไม้จะว่างเปล่าไม่มีน้ำยา  กรรมวิธีเริ่มจากการนำไม้เข้าไปในถังแล้วให้อากาศอัดเข้าไปในถัง   อากาศที่อัดเข้าไปจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ต่างๆของเนื้อไม้ด้วยรงอัด ประมาณ 2-7 กก./ ตร.ซม.  จากนั้นปล่อยน้ำยาเข้าถังด้วยแรงอัดที่สูงกว่าครั้งแรกประมาณ 7 – 14 กก./ ตร . ซม. ปล่อยให้น้ำยาซึมเข้าไปในเนื้อไม้จนเต็มจากนั้นค่อยๆลดความดันภายในถังลงและปล่อยน้ำยาออกจากถัง  ขณะเดียวกันเซลล์ไม้ที่ถูกอากาศอัดไว้ตอนแรกก็จะขยายตัวและขับเอาน้ำยาออกมาจากช่องเซลล์ จากนั้นก็ทำสุญญากาศอีกประมาณ 30- 45 นาที ก็จะทำให้เหลือน้ำยาเพียงที่ผิวของเซลล์ไม้ ทำให้ไม้แห้งและไม่มีน้ำยาไหลเยิ้มออกมาในภายหลัง วิธีนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

                        วิธีที่สอง  การทาหรือการพ่น     เป็นวิธีการที่ง่ายและค่าใช้จ่ายต่ำ  โดยการเอาแปรงทาหรือเครื่องพ่นหรือแช่ลงในถาดน้ำยา การทาหรือพ่นควรทำอย่างน้อยสองครั้ง ซึ่งน้ำยาจะซึมเข้าเนื้อไม้ไม่ลึกนัก และควรเป็นน้ำยาชนิดที่ดูดซึมเร็ว วิธีนี้อาจได้ผลไม่เต็มร้อย แต่ก็สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ หรือทำให้ฟังไจเข้าไปไม่ได้ การผึ่งไม้ให้แห้งก่อนการทาหรือพ่นจะช่วยให้น้ำยาซึมซับเซลล์ไม้ได้ดีขึ้น และต้องระวังการแตก ฉีก ร้าว ของไม้เพราะเป็นทางเข้าของฟังไจได้  

น้ำยารักษาเนื้อไม้

                        น้ำยาหรือสารเคมีที่นำมาใช้มนการรักษาเนื้อไม้มีอยู่หลายชนิด ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะงานนั้นๆ

                        ดรีโอโสต ( Coal – tar creosote ) เป็นน้ำมันซึ่งเป็นผลิตพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ ถ่านหิน มีสีได้ง่าย หาได้ง่าย แต่มีกลิ่นเหม็น ไม่ละลายในน้ำ ทาสีทับไม่ได้ เหมาะสำหรับการทาเสาเข็ม โคนเสาใต้ถุนบ้าน หรือโครงหลังคาบนฝ้าเพดาน ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้กันดีคือยี่ห้อโซลิกนั่ม

                        ซิงค์คลอไรด์ ( Zinc  chloride ) เป็นผงสีขาว หาได้ง่าย ราคาถูกไม่มีกลิ่น ทาสีทับได้ เนื้อไม้ที่รับสารนี้เข้าไปช่วยทำให้ทนไฟได้ดีขึ้น ละลายในน้ำ ได้ ไม่เหมาะกับงานในที่โล่งแจ้ง ต้องเป็นไม้ที่แห้ง มีคุณสมบัติในการป้องกันพวกเห็ดราและแมลงเจาะไม้ต่างๆยกเว้นปลวก  เหมาะสำหรับงานไม้ที่อยู่ในร่ม ไม่สัมผัสกับพื้นดิน

                        น้ำมัน ปิโตเลียม ( Petroleum )  เป็นน้ำมัน ปิโตเลียดิบ หรืออาจใช้น้ำมันเครื่องเก่าๆที่ผ่านการใช้งานแล้วที่เราเรียกว่าน้ำมันขี้โล่  นำมาผสมกับน้ำมัน ครีโอโลตในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เพื่อทำให้ทาใด้ง่ายขึ้น มีคุณสมบัติป้องกันแมลงเจาะไชและป้องกันการผุ  ใช้ในการทาหมอนรองรางรถไฟ  ทาไม้หรือเสาที่สัมผัสกับพื้นดิน  ในสมัยเก่านิยมนำเอาน้ำมันขี้โล้มาทาแบบหล่อเพื่อป้องกันไม่ให้คอนกรีตเกาะติดกับไม้แบบ  แต่ปัจจุบันนี้เลิกใช้ไปแล้วเพราะทำให้คอนกรีตสกปรก และทำให้การฉาบปูนไม่เกาะติดเนื้อคอนกรีต

                        โซเดียมฟลูโอไรด์ ( Sodium  fluoride ) เป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดี แต่ไม่ควรใช้ในที่ที่มีหินปูนเพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาจับตัวเป็นตะกอน  ไม่เหมาะกับงานที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง  มีคุณสมบัติในการรักษาเนื้อไม้ เช่นเดียวกับซิงก์คลอไรด์ 

                        สารหนู ( Arsenic )  เป็นสารที่เป็นพิษต่อแมลงและราต่างๆ  การทาสารหนูบนเนื้อไม้ต้องระวังเพราะจะมีแก๊สที่เป็นอันตรายสุขภาพของผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ

                        นอกจากนนี้ยังมีน้ำยาหรือสารเคมีอีกหลายชนิดขึ้นอยู่กับผู้ใช้ต้องเลือกให้เหมาะสม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่รักษาเนื้อไม้เป็นที่รู้จักกัน เช่น ซาโดลินของทีโอเอ และเซลล์ไดร์ของบริษัทเชอร์วู้ด  ใช้ป้องกันปลวก มอด เชื้อรา และแมลงต่างๆ ทิมเบอร์ชิลด์ของโอเอ ใช้ป้องกันเชื้อราและกันน้ำซึมเข้าเนื้อไม้ ฯลฯ  และผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันเฉพาะผิวไม้ เช่น สีน้ำมันต่างๆ  น้ำมันวานิช ยูนิเทนแชคแลค แล็กเกอร์ เป็นต้น

 

"ปลวก" เป็นสัตว์ตัวเล็กๆแต่สามารถสร้างปัญหาที่น่าปวดหัวให้กับเราได้ไม่น้อย ถึงขนาดพังบ้านได้ทั้งหลัง การกำจัดปลวกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังเกตได้ว่ามีบริษัทรับกำจัดปลวกที่คอยให้บริการอยู่มากมายให้เราเลือกสรร

    แต่จะดีกว่ามั๊ยถ้าเรารู้วิธีกำจัดปลวกด้วยตัวเอง เพื่อที่เราจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปจ้างบริษัทต่างๆ ในอัตราค่าบริการที่สูงใช่ย่อย และก็ไม่รู้ว่าจ้างมาแล้วจะช่วยให้กำจัดปลวกได้อย่างสิ้นซาก หรือต้องจ้างแล้วจ้างอีก ก็อาจจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ วันนี้มีสารพัดวิธีกำจัดปลวกมาแชร์กันเผื่อใครที่สนใจจะกำจัดปลวกด้วยตัวเอง

วิธีกำจัดปลวก

ขอแบ่งวิธีกำจัดปลวกเป็น 3 วิธีคือ

1.  กำจัดด้วยสารเคมี

2.  กำจัดด้วยสิ่งมีชีวิต

3.  กำจัดด้วยสมุนไพร

 

1. กำจัดปลวกด้วยสารเคมี

ก็เป็นวิธีที่คนไทยนิยมทำกัน ก็คือไปหาพวกน้ำยากำจัดปลวกที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป มาฉีด พ่น อัด ลงในตัวแหน่งที่มีปลวก หรือในตัวแหน่งที่มีความเสี่ยงที่ปลวกจะไปทำรัง โดยส่วนผสมหลักๆก็จะมี คาร์บาเมท,คลอไพรีฟอส และฟิโฟรนิล โดยที่ปลวกจะรับสารออกฤทธิ์เข้าทางปากและผิวหนัง แล้วสุดท้ายก็ตายไปในที่สุด และเมื่อปลวกตัวหนึ่งโดยยาตายไป ปลวกตัวอื่นๆที่มากัดกินปลวกตัวที่ตายก็จะได้รับสารเคมีจากย่าฆ่าปลวกไปด้วย ก็อาจจะทำให้ปลวกตายยกรังได้

ข้อเสียของการกำจัดปลวกด้วยสารเคมี

·    อันตรายจากสารที่ใช้ฉีดฆ่า ซึ่งอาจจะตกค้างอยู่ภายในบ้าน ซึ่งอาจจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ รุนแรงหน่อยก็กล้ามเนื้อกระตุก เป็นอัมพาต ชัก หมดสติ 

·    ปลวกดื้อยา สารเคมีกำจัดปลวกพวกนี้หากฉีดบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ปลวกเกิดอาการดื้อยาได้ แล้วพอฉีดไปเรื่อยมันก็จะไม่ตายแล้ว ซึ่งหากเราไปจ้างบริษัทฉีดเราก็ไม่รู้ว่าเค้าใช้ยาตัวเดิมมาฉีดให้เราหรือเปล่า หากเป็นอย่างนั้นก็คงเสียเงินฟรีเพราะฆ่าปลวกไม่ตาย

 

2. กำจัดปลวกด้วยสิ่งมีชีวิต

เป็นวิธีที่ใช้สิ่งมีชิวิตกำจัดสิวมีชีวิตด้วยกัน โดยไอ้สิ่งมีชีวิตที่เราจะใช้กำจัดปลวกก็คือ "ไส้เดือนฝอย" มีชื่อจริงว่า Steinernema sp. เป็นพันธุ์ไทย พบได้แถวกาญจนบุรี เป็นไส้เดือนที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยกลไกการทำงานของวิธีการนี้ก็คือ เมื่อปลวกมันได้รับหรือกินไส้เดือนฝอยเหล่านี้เข้าไป มันจะทำให้ปลวกป่วย และมันจะขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานในท้องของปลวกจนมันตายไปในที่สุด และเหมือนเดิมเมื่อปลวกตัวอื่นมากินปลวกที่ตาย ไส้เดือนฝอยมันก็จะไปขยายพันธุ์เพื่อทำลายล้างปลวกต่อไป จนปลวกตายยกลัง โดยที่ไส้เดือนฝอยเหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายต่อคนแต่อย่างใด เพราะมันจะมีผลต่อสัตว์เลือดเย็น หรือสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเท่านั้น

วิธีการฉีดปลวกด้วยไส้เดือนฝอย

ให้เอาไส้เดือนฝอยที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ จากนั้นก็เอาไปฉีดที่รังปลวก หรือแหล่งที่มีความเสี่ยง ที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของไส้เดือนฝอย เดี๋ยวมันจะจัดการปลวกแบบไม่ให้เหลือผู้สืบสกุลไปเอง แต่ต้องฉีดตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะไส้เดือนมันแพ้แสงแดด และสามารเก็บได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น โดยให้แช่ไว้ในตู้เย็น

 

3. กำจัดปลวกด้วยสมุนไพร

มีสมุนไพรหลายชนิดมีสรรพคุณสามารถใช้กำจัดปลวกได้ดี เช่น ขมิ้นชัน เมล็ดน้อยหน่า สาบเสือ หญ้าแห้วหมู เปลือกมังคุด ไม้ฉำฉา โกงกาง ซึ่งจะต้องมีการสกัดออกมาโดยไปมีผลทำลายวงจรชีวิตของปลวก ลดขบวนการย่อยอาหาร ยับยั้งการลอกคราบ ลดการฟักไข่ของนางพญา ตัดวงจรการส์บพันธุ์ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งเป็นผลการทดลองของรองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก 3 ตัวหลักๆคือ Terminate , Terminus , Termina Oil ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งาน และพื้นที่ที่ใช้ซึ่งหากสนใจก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก internet ได้ โดยข้อดีของการใช้สมุนไพรกำจัดปลวกคือ ไม่ทำให้ปลวกดื้อยา เพราะทำมาจากพืชธรรมชาติ และปลอดภัยต่อคน

    ก็ลองเลือกใช้ดูว่าเราสะดวกที่จะกำจัดปลวกด้วยวิธีไหนมากที่สุด หรืออาจจะลองกำจัดแบบผสมผสานดูก็ได้ ใช้สารเคมีบ้าง สมุนไพรบ้าง ไส้เดือนฝอยบ้าง จะได้รู้ว่าวิธีไหนดีที่สุด ตอบโจทย์การกำจัดปลวกมากที่สุด สุดท้ายก็ขอให้บ้านของผู้อ่านทุกคนปลอดภัยจากปลวกที่รุกรานบ้านกันถ้วนหน้าครับ

 

ย้อนกลับ